วิสัยทัศน์/พันธกิจ

1. วิสัยทัศน์
     - วิสัยทัศน์ระยะ 5 ปี (พ.ศ 2560 – 2564) “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสู่การจัดการตนเอง"
     - วิสัยทัศน์ระยะ 20 ปี (พ.ศ 2560 – 2579) “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”
2. พันธกิจ
           1) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การเพิ่มรายได้   การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน   ทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการและหลักการพัฒนาที่สมาชิกมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ  ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม
           2) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน
           3) สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน ตลอดจนประสานงานการ  สนับสนุนและการให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
           4) ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือองค์กรชุมชน  ทั้งในระดับท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับประเทศ

 3. ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน พ.ศ. 2560 - 2564
           การกำหนดทิศทางและแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2560 – 2564 เป็นการทบทวนจากยุทธศาสตร์การดำเนินงาน พ.ศ. 2558 – 2560 โดยมีการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานและการพัฒนาของขบวนองค์กรชุมชน   ยุทธศาสตร์และกรอบเป้าหมายการพัฒนาในระดับนโยบาย   ดังนี้
                     1)   ทบทวนและวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก โดยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกได้ศึกษา  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560  ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)   ยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเด็นงานพัฒนาด้านต่าง ๆ ของขบวนองค์กรชุมชน ส่วนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในองค์กรได้จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การจัดทำทิศทางและแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2560-2564 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2560 
25610202 CODISDG2016 2030

                              2) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) พ.ศ. 2560 – 2564   ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์หลักและประเด็นยุทธศาสตร์จากการดำเนินงานที่ผ่านมาและทิศทางข้างหน้าระยะต่อไป   

ยุทธศาสตร์       องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก    พื้นที่เป็นตัวตั้ง

ประเด็นยุทธศาสตร์    4  ประเด็นยุทธศาสตร์   คือ  

           1) การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง   สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง

           2) การจัดระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย

           3) การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน

           4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร


ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1

การพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง   สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่พัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง
         สนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนสามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาตามแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง  โดยมีขบวนองค์กรชุมชน  สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่   มีการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ครอบคลุมการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม   ทั้งด้านสังคม  เศรษฐกิจ  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม   ตลอดจนตัวชี้วัดการพัฒนาตนเองของชุมชนสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองและเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นในทุกระดับ   

เป้าประสงค์
          ขบวนชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองบนพื้นฐานทุนชุมชนท้องถิ่นได้อย่างสมดุล   

       ชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย สามารถพึ่งตนเองได้
เป้าหมาย
         1)แผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงาน/ภาคีพัฒนาในพื้นที่ 3,000 ตำบล             
      2)ขยายผลและสร้างโอกาสให้ชุมชนและผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสวัสดิการด้านทิ่อยู่อาศัย  มีที่อยู่อาศัยของตนเองและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม 176,714 ครัวเรือน
กลยุทธ์
              1) การพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่ต้นแบบ   ส่งเสริมการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพของพื้นที่ปฏิบัติการจากการขับเคลื่อนงานพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา เพื่อยกระดับการพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เพิ่มการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบบนความหลากหลาย   ซึ่งอาจเป็นการพัฒนาในเชิงประเด็นงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย การจัดการที่ดินทำกิน  การจัดสวัสดิการชุมชน การจัดการภัยพิบัติ  หรือการพัฒนาเชิงภูมินิเวศน์ สู่พื้นที่ต้นแบบชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในหลากหลายด้าน  และใช้พื้นที่ต้นแบบเป็นพื้นที่ร่วมคิด  ร่วมปฏิบัติการ และร่วมรับประโยชน์ระหว่างชุมชน  เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น ๆ ต่อไป
         2) การพัฒนาความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนฐานรากบนวิถีเศรษฐกิจพอเพียง  วิเคราะห์ปัญหาและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น   กลุ่มเครือข่ายทางเศรษฐกิจและสร้างกลไกการเชื่อมโยงในการพัฒนาอย่างครบวงจร  ตั้งแต่การผลิต  การแปรรูป  การบริการ  และการตลาด   พร้อมทั้งสามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างคุณค่าจากสินค้าและบริการ   โดยประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคม  ภาคเอกชน  และภาคีพัฒนา  เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและรายได้ให้แก่คนในชุมชน  ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอยู่ดีมีสุข  สามารถพึ่งพาตนเองสู่การพัฒนาและยกระดับเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเป็นธุรกิจของชุมชน  
         3) การจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม  พัฒนากลไกและระบบการจัดการร่วมของชุมชนท้องถิ่นอย่างบูรณาการ โดยระดมพลังในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน จัดทำแผนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทของชุมชน โดยมีขบวนองค์กรชุมชนและสภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
         4) การสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  สนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระยะ 3-5 ปี   โดยครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการพัฒนาสังคม  เศรษฐกิจ  ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความตื่นตัว ตระหนักและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อมุ่งสู่การจัดการตนเองอย่างแท้จริง   มีเป้าหมายการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน   ใช้แผนเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงานพัฒนาที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นมีความมั่นคง  และมีคุณภาพชีวิตที่ดี   โดยยังคงรักษาเอกลักษณ์และปรับใช้ภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสมในการจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน   ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่ความสมดุลและยั่งยืน   พร้อมทั้งผลักดันและยกระดับแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเชื่อมโยงสู่แผนของหน่วยงานระดับท้องถิ่น  ระดับอำเภอ  และระดับจังหวัด
         5) การพัฒนาความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในเมืองและชนบท   พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยอย่างบูรณาการ  เป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบครอบคลุมชุมชนทั้งเมืองและชนบท   มีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนแก้ปัญหาเชิงรุก  จัดทำแผน  แนวทาง  และรูปแบบการแก้ปัญหาที่มีความหลากหลาย  ตามสภาพปัญหาของชุมชน  และแผนการพัฒนาของท้องถิ่น   โดยมีรูปแบบการพัฒนาทางกายภาพที่หลากหลายตามความเป็นไปได้ในเรื่องที่ดิน  การจัดการของชุมชนและการยอมรับร่วมกันในท้องถิ่นครอบคลุมทั้งด้านกายภาพ  ที่ดิน  และการพัฒนาด้านอื่น ๆ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การออมทรัพย์  การบริหารจัดการองค์กร  การบริหารจัดการงานก่อสร้าง  การจัดการที่ดิน เป็นต้น   เป็นกระบวนการทำงานและการจัดการร่วมระหว่างชุมชนและท้องถิ่น  โดยมีกลไกการทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย  ชุมชน  หน่วยงานในท้องถิ่น และหน่วยงานระดับจังหวัด   พร้อมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาชุมชนให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาในหน่วยงานท้องถิ่น และแผนยุทธศาสตร์จังหวัด  เพื่อสร้างความมั่นคงและพัฒนาเป็นชุมชนน่าอยู่  มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2

การจัดระบบความสัมพันธ์ของชุมชนท้องถิ่นและภาคีที่เกี่ยวข้องสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย
              เป็นการปรับกระบวนงานและความสัมพันธ์การทำงานร่วมระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและภาคีให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก   โดยมีพื้นที่รูปธรรมเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการขับเคลื่อนงานระหว่างองค์กรชุมชน  ภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่และผลักดันสู่ระดับนโยบายสาธารณะ   มีกลไกความร่วมมือของขบวนองค์กรชุมชนและภาคีที่เอื้อต่อการพัฒนา  โดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักภายใต้วิถีวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่น     

เป้าประสงค์
         ภาคีความร่วมมือสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง
เป้าหมาย
           ยกระดับความร่วมมือระหว่างชุมชน  หน่วยงานภาครัฐและภาคีพัฒนาสู่เครือข่ายความร่วมมือชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองอย่างเป็นรูปธรรมใน 77 จังหวัด
กลยุทธ์
               1) การพัฒนากลไกความร่วมมือ  เป็นการจัดความสัมพันธ์การทำงานร่วมระหว่างขบวนองค์กรชุมชน พอช. และภาคีพัฒนาในการหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการผลักดันเชิงนโยบายสาธารณะ  ทั้งระดับพื้นที่ และระดับชาติที่มีความสัมพันธ์กันอยู่ในระบบนิเวศน์ชุมชนท้องถิ่น  โดยการประสานสร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนาในมิติต่าง ๆ  สร้างความเข้าใจร่วมระหว่างตัวแทนภาครัฐ (ระดับตำบล อำเภอ) ภาคี ภาคธุรกิจ กิจการเพื่อสังคม ภาคประชาสังคม  กับตัวแทนชุมชน แกนนำ พัฒนาสู่สายสัมพันธ์ที่สามารถร่วมเรียนรู้ แบ่งปันข้อมูล เปิดโอกาสสู่การขับเคลื่อนงาน หรือการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างผ่านเครือข่าย และขบวนการในรูปแบบต่างๆ  เช่น  สมัชชาจังหวัด  สมัชชาขบวนองค์กรชุมชนระดับชาติ  สภาปฏิรูปแห่งชาติ  เป็นต้น   โดยมีการกำหนดบทบาท  และแผนการทำงานร่วมที่ชัดเจนทั้งในระดับพื้นที่ปฏิบัติการและระดับนโยบาย 
          2) การสร้างพื้นที่รูปธรรมความร่วมมือ  เป็นการปฏิบัติการร่วมในพื้นที่ระหว่างขบวนองค์กรชุมชน  พอช. และภาคีพัฒนา  โดยมีการกำหนดรูปแบบและกติกาการทำงานร่วมกันในพื้นที่  พร้อมทั้งมีการแสดง “เจตนารมณ์ชุมชน” ผ่านสภาองค์กรชุมชน/ขบวนองค์กรชุมชน  รวมถึงการพัฒนากลไกและระบบการจัดการร่วมในการขับเคลื่อนและถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรม   ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการบูรการการทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่และระดับชาติ  โดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
          3) การเชื่อมโยงแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่ยุทธศาสตร์จังหวัด  เป็นการผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของภาคประชาชนกับแผนพัฒนาของหน่วยงานระดับท้องถิ่น  อำเภอ  และจังหวัด   โดยได้รับการสนับสนุนหรือเชื่อมโยงบรรจุเป็นแผนพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐ  ทั้งในระดับส่วนกลาง  ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3

การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน
        เป็นการวางรากฐานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง  โดยการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำชุมชนท้องถิ่น  พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของขบวนองค์กรชุมชน    ซึ่งเป็นกลไกและแกนสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรม  จริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาล  และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง  ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับองค์กรและชุมชนท้องถิ่น     

เป้าประสงค์
      ผู้นำชุมชนมีศักยภาพและสัมพันธภาพที่ดี  เป็นพลเมืองตื่นรู้ใส่ใจสังคมสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศไทยยุคใหม่ตามแนวทางชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง  
       องค์กรชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักธรรมาภิบาล
เป้าหมาย
       1)  ผู้นำชุมชนมีความรู้ความสามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 15,000 คน
       2)  องค์กรชุมชนมีคุณภาพและขีดความสามารถในการบริหารจัดการการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม 6,260 ตำบล (ร้อยละ 80 ของพื้นที่ อปท.)
กลยุทธ์
            1) การพัฒนาคนในชุมชนท้องถิ่นให้มีคุณภาพและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง  เสริมสร้างความเข้าใจในการปรับตัว ความสามารถ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ เทคนิคและรูปแบบการพัฒนาที่ทันสมัย  การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับลักษณะงาน  รวมถึงทักษะในการเชื่อมโยงและบูรณาการการการทำงานร่วมระหว่างขบวนองค์กรชุมชนและการทำงานร่วมกับภาคีพัฒนาในพื้นที่   พร้อมทั้งสร้างกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องท่ามกลางการปฏิบัติการจริง   และเสริมสร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อครอบครัว  ชุมชน  และสังคม  ซึ่งเป็นการเสริมสร้างคนให้เป็นคนที่งอกงามทางจิตวิญญาณสู่ความเป็น “พลเมืองตื่นรู้  ใส่ใจสังคม” ในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงการสร้างและพัฒนาคนรุ่นใหม่  เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและความมั่นคง
            2) การสร้างและพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชน เป็นการยกระดับศักยภาพแกนนำในขบวนองค์กรชุมชนสู่การเป็นผู้นำเชิงยุทธศาสตร์  ทั้งผู้นำปัจจุบันและผู้นำรุ่นใหม่   โดยค้นหาและสร้างระบบการพัฒนาผู้นำที่มีจิตอาสาและมีศักยภาพในการพัฒนา เพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง   โดยเชื่อมโยงภาคีพัฒนาที่มีการทำงานฐานผู้นำชุมชนร่วมกันพัฒนาหลักสูตร/เนื้อหาในการพัฒนาผู้นำอย่างต่อเนื่อง   มุ่งเน้นสาระสำคัญในการวิเคราะห์บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ  เพื่อให้ผู้นำมีความสามารถในการคิด  วิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ  รวมถึงการนำประสบการณ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น 
            3) การยกระดับคุณภาพขององค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน เป็นการสนับสนุนองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนทุกระดับให้เป็นองค์กรธรรมาภิบาล  เปิดเผย  โปร่งใส  เพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานในลักษณะต่างๆ เช่น คณะอนุกรรมการภาค คณะทำงานเชิงประเด็น กองเลขานุการจังหวัด/งานประเด็น เป็นต้น  ส่งเสริมการสอบทานคุณภาพขององค์กรชุมชน   เพื่อกำหนดทิศทาง/แผนงานในการพัฒนากลไกและขบวนองค์กรชุมชนร่วมกัน    พัฒนาและเสริมสร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลทุกระดับในชุมชนท้องถิ่นบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมทั้งในระดับชุมชน  ตำบล  จังหวัด และประเทศ   เป็นการสร้างระบบการบริหารจัดการที่ดีที่รับผิดชอบต่อชุมชนและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างแท้จริง   อันเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างธรรมาภิบาลในชุมชนท้องถิ่น
ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4
การพัฒนาระบบบริหารจัดการองค์กร
         เป็นการวางรากฐานการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง  โดยการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำชุมชนท้องถิ่น  พร้อมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถของขบวนองค์กรชุมชน   ซึ่งเป็นกลไกและแกนสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีความรู้ความสามารถ  มีคุณธรรม  จริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาล  และเท่าทันการเปลี่ยนแปลง  ตลอดจนเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับองค์กรและชุมชนท้องถิ่น     

เป้าประสงค์
        ระบบบริหารจัดการขององค์กรมีความพร้อมสามารถรองรับและสนับสนุนงานขององค์กรและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
        บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ ปฏิบัติงานอย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
เป้าหมาย
             1)เพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลและพัฒนาองค์กร  ร้อยละ 80
             2)  บุคลากรมีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงาน  ร้อยละ 80
กลยุทธ์

           1) การยกระดับการใช้ข้อมูลสารสนเทศสู่องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและการสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง    เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการข้อมูล  สร้างคลังปัญญาชุมชน และพัฒนานักจัดการความรู้และสื่อสารชุมชนที่สามารถพัฒนากระบวนการเรียนรู้  ถอดบทเรียน จัดการระบบ และสื่อสารเผยแพร่องค์กรความรู้ของชุมชนสู่สาธารณะ   พร้อมทั้งขยายผลงานพัฒนาที่ครอบคลุมกว้างขวางขึ้น  ชุมชนท้องถิ่นและภาคีพัฒนาสามารถเข้าถึงและเลือกใช้ความรู้และเทคโนโลยีได้อย่างคุ้มค่าและเหมาะสม

                   1.1) ส่งเสริมให้มีการใช้ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น   เป็นการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลองค์กรชุมชน  เครือข่ายองค์กรชุมชน   สภาองค์กรชุมชน  และประเด็นงานพัฒนาด้านต่าง ๆ เช่น  ที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  สวัสดิการชุมชน  เป็นต้น  เป็นระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความทันสมัย เป็นปัจจุบันและพร้อมใช้งาน   พร้อมทั้งสนับสนุนให้ขบวนองค์กรชุมชนมีความรู้และทักษะในการใช้ประโยชน์ข้อมูลสารสนเทศเพื่อดำเนินงาน  และติดตามผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่  ตลอดจนประสานเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลกับภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  

                  1.2) สร้างองค์ความรู้ที่มีคุณภาพ   ส่งเสริมให้มีการจัดทำชุดองค์ความรู้ที่เป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น   จัดการความรู้จากการปฏิบัติ  ถอดบทเรียนกรณีพื้นที่รูปธรรมที่ประสบความสำเร็จเพื่อขยายผล   ประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา  นักวิชาการในการค้นหาองค์ความรู้ชุมชนผ่านการศึกษาวิจัย  เพื่อยกระดับสู่การปฎิบัติได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของชุมชนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่  

                 1.3) เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง  พัฒนานักสื่อสารชุมชนและเพิ่มช่องทาง  รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลายกว้างขึ้น  เพื่อให้งานพัฒนาชุมชนที่ชุมชนเป็นแกนหลักเป็นที่รับรู้ของสาธารณะ  ทุกภาคส่วนให้การสนับสนุนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

          2) การบริหารจัดการองค์กรสู่ธรรมาภิบาล   มุ่งเน้นการวางรากฐานการพัฒนาให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนในระยะยาว  ทั้งในส่วนขององค์กร พอช. และองค์กรชุมชนในทุกระดับ  ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาองค์กรและชุมชนให้เกิดความน่าเชื่อถือและยอมรับการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ   มีความโปร่งใส  และสามารถตรวจสอบได้   โดยการปรับปรุง/พัฒนาระบบและกลไกการบริหารจัดการและการสนับสนุนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนให้มีความคล่องตัว  รวดเร็ว  มีประสิทธิภาพ  และได้มาตรฐาน  ทบทวนและลดความซ้ำซ้อนของขั้นตอนการทำงาน  วางระบบการกระจายอำนาจ  การติดตามตรวจสอบและการบริหารจัดการความเสี่ยง   ตลอดจนเพิ่มขีดสมรรถนะของส่วนงานในการพัฒนารูปแบบการบริหารและกระบวนการทำงานให้มีคุณภาพ   มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมมาใช้สนับสนุนการทำงานด้วยความคล่องตัว  โปร่งใส  และสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

         3) การบริหารการเงินและสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ   เป็นการพัฒนาระบบการบริหารเงินทุนขององค์กรให้มีความยั่งยืนและบริหารสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ  เพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสม   โดยกำหนดมาตรการในการเสริมสร้างและสนับสนุนองค์กรผู้ใช้สินเชื่อให้มีระบบการบริหารที่ดี  รวมถึงพัฒนาระบบความรู้  เครื่อมมือการบริหารสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการทำงานพื้นที่   ปรับปรุงและพัฒนามาตรการทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ผิดนัด   พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทของขบวนองค์กรชุมชนในการพัฒนาคุณภาพองค์กรผู้ใช้สินเชื่อ

         4)  การบริหารและพัฒนาศักยภาพบุคลากร   เป็นการพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ความสามารถและทักษะการทำงานที่หลากหลาย   สร้างทีมทำงานที่มีประสิทธิภาพ  พัฒนาวัฒนธรรมองค์กร  และเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากรบุคคล   เพื่อให้บุคลากรมีความรู้ความสามารถ  มีทักษะการทำงานที่หลากลาย  ทำงานเป็นทีม   มีความรับผิดชอบ  มีคุณธรรม  จริยธรรม   สามารถพัฒนาตนเอง   พัฒนาระบบเพื่อบรรลุเป้าหมายชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง

CODI Strategy 2560 2564

4. การแปลงยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ  
        การแปลงยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสถาบันฯ ไปสู่การปฏิบัติ    โดยเน้นการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และขบวนองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่    และสภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางสร้างการมีส่วนร่วมในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการร่วมกัน  เพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง   ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบการบริหารจัดการเชิงยุทธศาสตร์  เพื่อให้เกิดการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง  โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้
             1) พัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนของผู้ปฏิบัติงาน พอช. และคนในขบวนองค์กรชุมชน  ให้มีความรู้ความสามารถ  เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง  และสามารถประสาน  เชื่อมโยงการทำงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีคิด  วิธีการทำงานของบุคคล  ชุมชน  และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ  ภาคประชาสังคม  และภาคีพัฒนา  โดยกระบวนเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง  จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาสู่การปรับวิธีคิด และวิธีการทำงานใหม่ในการปฏิบัติ   รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และกลไกในการเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง
              2) ทบทวน ปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ  โครงสร้างองค์กรและกลไกต่างๆ  เพื่อสนับสนุนกระบวนการแปลงแผนยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ   โดยการทบทวนกลไกและบทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ   ปรับปรุงกฏระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับโครงสร้างการทำงานและสนับสนุนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชน   ศึกษาและประเมินผลการปรับโครงสร้างการทำงาน  พร้อมปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน  เพื่อพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มขึ้น  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินงานและทิศทางการพัฒนา
               3) เชื่อมโยงสู่แผนปฏิบัติการระดับองค์กรและส่วนงาน   โดยมีแผนงาน/โครงการ   ตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์  จัดลำดับความสำคัญของภารกิจและกิจกรรมที่มุ่งผลสัมฤทธิ์  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการดำเนินงาน  รวมถึงการทบทวนแผนงาน/โครงการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือหมดความจำเป็นในดำเนินงาน   ซึ่งอาจมีการปรับลดหรือยุติโครงการหรือปรับกระบวนการทำงานใหม่  เพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
               4) สนับสนุนกระบวนการแปลงแผนสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่  เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระยะปานกลาง 3 – 5 ปี   โดยมีสภาองค์กรชุมชน/เครือข่ายองค์กรชุมชนเป็นกลไกกลางในการเชื่อมโยง   มีการวิเคราะห์ศักยภาพและปัญหาของชุมชนร่วมกันจากทุกภาคส่วนในพื้นที่   กำหนดเป็นแผนการดำเนินงานที่นำไปปฏิบัติได้จริง  ซึ่งอาจเป็นแผนงานในประเด็นต่าง ๆ  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน  การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน  การจัดการภัยพิบัติ  การพัฒนาองค์กรชุมชน   เป็นต้น  โดยสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน และสามารถเชื่อมโยงสู่แผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น  อำเภอ  จังหวัด และภาค 
                5)พัฒนาระบบและกลไกการติดตามประเมินผล  วางระบบการติดตามประเมินผลและการกำกับดูแลให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน   สร้างเกณฑ์การวัดผลและระบบการประเมินผลขององค์กรที่เน้นผลลัพธ์ของงาน   โดยสนับสนุนให้ทุกระดับในองค์กรและขบวนองค์กรชุมชนดำเนินการติดตามประเมินผลแผนงาน/โครงการ  และมีการนำข้อมูลจากการติดตามประเมินผลมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงระบบ  กลไก  และแผนงาน/โครงการประจำปีอย่างต่อเนื่อง
                6)ส่งเสริมการพัฒนาระบบฐานข้อมูล  องค์ความรู้และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในระดับต่างๆ  เพื่อใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจและการบริหารจัดการ   โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงข้อมูลทุกระบบทั้งในมิติของงานพัฒนาและงานบริหารองค์กร  ให้มีข้อมูลทันสมัย  ถูกต้องและขบวนองค์กรชุมชนสามารถเข้าถึงระบบข้อมูลในการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น   พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน   ภาคีพัฒนาที่เกี่ยวข้อง  และสถาบันการศึกษาในการสนับสนุนด้านวิชาการ  การจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการวางแผน  และใช้ประโยชน์ในการติดตามประเมินผลความก้าวหน้างานพัฒนา  รวมถึงการพัฒนาการจัดการความรู้ชุมชนและสื่อสารชุมชนสู่สาธาณณะผ่านช่องทางและกลไกที่กว้างขวางและหลากหลาย